ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับอาหารเสริม กลายเป็นเรื่องที่ถูกเชื่อไปอย่างกว้างขวางค่ะกับความเชื่อผิดๆ หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริม โดยเฉพาะความเข้าใจผิดในเรื่องวิธีการรับประทานอาหารเสริมดังเช่นคำกล่าวว่าทานอาหารเสริมอย่างเดียวก็แข็งแรงได้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงตัวอย่างความเชื่อหนึ่งที่พบเจอได้มากตั้งแต่อดีตและยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันค่ะ เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารเสริมเพื่อสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมักนิยมซื้อมารับประทานเพื่อช่วยให้ร่างกายตนเองแข็งแรงขึ้น เพราะสารที่เป็นที่ต้องการของเราบางชนิดนั้น ร่างกายของเราไม่สามารถผลิตได้ตามธรรมชาติ เจ้าอาหารเสริมดังกล่าวจึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพของเรานั่นเอง
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับอาหารเสริม ที่คนไทยมักเข้าใจกันมีอะไรบ้าง
อาหารที่เรากินในแต่ละวันมีทั้งสารอาหารจำเป็น และสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การบริโภคอาหารน้อยเกินไปหรือมากเกินไปแต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ อาจส่งผลทำให้การทำงานของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นั่นจึงทำให้ “อาหารเสริม” ไม่ว่าจะในรูปแบบของวิตามิน หรือแร่ธาตุสำคัญเข้ามามีบทบาทในชีวิตหากต้องการมีสุขภาพดีค่ะ
อาหารเสริม คือ…
อาหารเสริม คือ สารอาหารที่ใช้รับประทานเพิ่มเติมจากมื้ออาหารหลัก อาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ หรือเพื่อบำรุงสุขภาพตามความเชื่อของบางบุคคล ส่วนสารอาหารที่มักถูกนำมาทำเป็นอาหารเสริม ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน พืช ผัก สมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น
อาหารเสริมถูกผลิตออกมาให้สามารถรับประทานได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ด แบบแคปซูล แบบผง หรือแบบน้ำ โดยอาหารเสริมอาจเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษาทางการแพทย์ ที่ผู้ป่วยต้องรับประทานภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น หรืออาจถูกวางจำหน่ายตามร้านขายยา ซึ่งผู้บริโภคควรรับประทานตามคำแนะนำของเภสัชกรและข้อบ่งชี้ที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด
อาหารเสริม จำเป็นแค่ไหน?
อาหารเสริมได้เข้ามามีบทบาทและเป็นตัวช่วยสำคัญในปัจจุบันนี้ เพราะเป็นตัวช่วยที่เหมาะสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ จึงได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนและเพียงพอ หรือคนที่ไม่มีเวลาดูแลตัวเองมากนัก รวมถึงขาดการออกกำลังกายตามความเหมาะสม รวมไปถึงคนบางกลุ่มที่อยู่ในภาวะพร่องโภชนาการ เช่น สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร สตรีที่รอบเดือนมามากผิดปกติ คนชราที่พิการหรือมีโรคประจำตัว คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ หรือคนที่รับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำมาก ๆ ผู้ป่วยบางโรค รวมไปถึงคนที่มีอาการแพ้อาหารบางประเภท เพราะฉะนั้นต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ
5 ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารเสริมที่ผู้บริโภคมักเข้าใจผิด
โดยปกติแล้วความเชื่อผิดๆ ที่เกี่ยวกับอาหารเสริมนั้นมีหลายความเชื่อทีเดียวค่ะ แต่ในบทความนี้ Charmace ได้หยิบยกมา 5 ความเชื่อที่มักพบในปัจจุบัน นั่นคือ
อาหารเสริมคือยารักษาโรค
แท้จริงแล้วอาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรคค่ะ มันถูกผลิตออกมาให้เข้ามาช่วยเสริมสิ่งที่เราขาด ไม่ได้ตอบโจทย์ในการช่วยทดแทนหรือรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกใช้ให้ถูกวิธีนะคะ
ทานอาหารเสริม-วิตามินเสริมอย่างเดียวก็แข็งแรงได้
จากที่กล่าวไปในความเชื่อแรกค่ะว่าอาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรคและไม่ได้ถูกผลิตมาให้ทดแทนสารอาหารต่าง ๆ ที่เราขาดได้ หลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่าเรารับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมไปแล้วก็ไม่ต้องทานผักหรือผลไม้ก็ได้ แต่จริง ๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นค่ะ ผู้บริโภคต้องทานอาหารตามปกติควบคู่กับการทานอาหารเสริม ร่างกายจึงจะแข็งแรง การทานอาหารเสริมอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้แต่อย่างใดค่ะ
ใคร ๆ ก็กินอาหารเสริมได้
บางคนมีความเชื่อว่า การรับประทานอาหารเสริมอาจช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติมจากสารอาหารที่ได้รับจากมื้ออาหาร เพราะสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายหรือการมีสุขภาพดีโดยส่วนใหญ่ สามารถหาได้จากการรับประทานอาหารให้ครบโภชนาการทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
อาหารเสริมแบบดีท็อกซ์ลำไส้ช่วยให้ผอมได้
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของการดีท็อกซ์ต่อการลดน้ำหนักหรือประโยชน์ต่อสุขภาพแต่อย่างใดค่ะ แต่การรับประทานอาหารเสริมที่ช่วยดีท็อกซ์พร้อม ๆ กับการเลือกทานอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยนั้นสามารถทำให้ลดน้ำหนักได้จริง เพราะอาหารเสริมที่ช่วยดีท็อกซ์นั้นจะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและขจัดไขมันตกค้างเท่านั้น แต่ผู้บริโภคก็ต้องมีส่วนในการที่ไม่ทำให้ร่างกายทำงานหนักด้วยการเลือกทานอาหารและออกกำลังไปด้วยค่ะ
อาหารเสริมบำรุงผิวช่วยให้ขาวได้ในเวลาอันสั้น
การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือที่เรียกกันติดปากว่าอาหารเสริมบางอย่างนั้น มีผลช่วยให้ผิวดูขาวแลกระจ่างใสได้ แต่ก่อนจะรับประทานเราต้องพิจารณาเลือกเฉพาะอาหารที่มี อย. และสามารถตรวจสอบได้ ที่สำคัญผู้บริโภคหลาย ๆ คนหลงเชื่อการการันตีเรื่องเวลา เช่น ขาวใน 7-14 วัน เป็นต้น ซึ่งอาจไม่เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้าง อาหารเสริมบางตัวช่วยให้ขาวได้จริงค่ะ แต่ไม่ควรมีการการันตีเวลาเข้ามาเพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนะคะ
แนวทางการทานอาหารเสริมให้ถูกต้อง
- ก่อนรับประทานอาหารเสริมชนิดใด ควรพิจารณาและขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่าง ๆ เช่น ประโยชน์ต่อสุขภาพทั่วไปจากการบริโภคอาหารเสริมชนิดนั้น ประโยชน์และความเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของผู้ที่ต้องการบริโภค ความปลอดภัยและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีการ ปริมาณ และระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการบริโภค เป็นต้น
- ไม่บริโภคอาหารเสริมเพื่อรักษาอาการป่วยที่ตนสงสัย แต่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรบริโภคอาหารเสริมชนิดนั้น
- ไม่บริโภคอาหารเสริมแทนการใช้ยารักษา หรือบริโภคร่วมกับยารักษาชนิดใด หากไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสารสกัดมาจากธรรมชาติ แต่ส่วนประกอบต่าง ๆ ในอาหารเสริมก็ไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดว่าจะมีผลลัพธ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเสมอไป ทั้งนี้ อาหารเสริมอาจมีส่วนประกอบของสารเคมีที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคได้หากบริโภคอย่างผิดวิธี หรืออาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้บริโภคบางรายที่มีอาการแพ้ยาหรือสารใด ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม ควรระมัดระวังในการบริโภคอยู่เสมอ
- หลังบริโภคอาหารเสริม หากพบผลข้างเคียงเป็นอาการเจ็บป่วยใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที และแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังบริโภคอาหารเสริมชนิดใดอยู่
อย่างไรก็ดี ผู้ที่กำลังบริโภคอาหารเสริมควรระมัดระวัง และเฝ้าสังเกตอาการที่อาจเป็นผลข้างเคียงของการใช้อาหารเสริมชนิดนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้สามารถไปพบแพทย์และรับการรักษาได้ทันเวลา และหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจก่ออันตรายแก่ชีวิตได้
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ
ระวัง! วิตามินและอาหารเสริม ตัวไหนบ้างที่ไม่ควรทานคู่กัน?
อาหารเสริมผู้หญิงวัย40 ควรรับประทานอะไรบ้าง?
วิธีการตรวจสอบ กลูต้าแท้กับกลูต้าปลอม