ประโยชน์ของวิตามิน บี (Vitamin B)
วิตามินบี หรือ วิตามินบีรวม ที่เรารู้จักมักคุ้นกันในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่คุณรู้หรือไม่ว่าวิตามินบีนั้นมีอยู่หลายชนิด และต่างก็มีประโยชน์และผลข้างเคียงที่ต่างกันออกไป โดยวิตามินบีแต่ละตัวจะทำงานเสริมซึ่งกันและกัน ต้องรับประทานร่วมกันจึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแยกรับประทาน สำหรับชนิดต่าง ๆ ของวิตามินบีรวมนั้นก็ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 วิตามินบี 15 วิตามินบี 17 และยังรวมไปถึง ไบโอติน โคลีน พาบา อิโนซิทอล อีกด้วยที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม
สำหรับการรับประทานวิตามินบีในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ไม่ควรแยกรับประทานเพราะจะไม่ได้ประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร แต่ควรรับประทานเป็นวิตามินบีรวม เพราะวิตามินบีแต่ละชนิดนั้นจะทำหน้าที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูงสุด โดยวิตามินบีรวมนั้นมีความจำเป็นอย่างมากต่อระบบประสาทและความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
วิตามินบี 1 (ไทอะมีน)
วิตามินบี 1 หรือ ไทอะมีน มีชื่อเรียกว่า “วิตามินเสริมขวัญและกำลังใจ” เพราะมีส่วนช่วยบำรุงประสาท แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ผัก โฮลวีต ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง รำข้าว เปลือกข้าว เมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี บริเวอร์ยีสต์ นม ไข่แดง ปลา เนื้อออร์แกนิก เนื้อหมูไม่ติดมัน ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 1 – 1.5 มิลลิกรัม ผลเสียของการรับประทานเกินขนาดยังไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษ หากรับประทานเกินขนาดก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะและไม่มีการสะสมแต่อย่างใด แต่หากมีอาการ (ซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ หรือแทบไม่เกิดเลย) ก็คือ สั่น โรคเริมกำเริบ ตัวบวม กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว และภูมิแพ้
ประโยชน์ของวิตามินบี1
1. ช่วยบำรุงประสาท กล้ามเนื้อ ทำให้หัวใจทำงานเป็นปกติ
2. ช่วยบำรุงสมอง ความคิด สติปัญญาให้ดีขึ้น
3. ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต
4. ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้ดี
5. ช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
6. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัดทำฟัน
7. ช่วยรักษาโรคงูสวัด
8. ช่วยรักษาโรคเหน็บชา
วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน)
วิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน มีอีกชื่อว่า วิตามินจี (Vitamin G) แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่ นม ถั่ว โยเกิร์ต ชีส ผักใบเขียว ปลา ตับ ไต ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 1.2 – 1.7 มิลลิกรัม แต่ขนาดที่ใช้รับประทานต่อวันโดยทั่วไปคือ 100-300 mg.
ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ยังไม่พบอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นพิษที่เกิดจากการรับประทานวิตามินชนิดนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าหากในร่างกายมีวิตามินชนิดนี้สูงเกินไปก็คือ คัน รู้สึกชา อาการแสบยิบ ๆ
โรคจากการขาดวิตามินบีชนิดนี้ ได้แก่ โรคปากนกกระจอก หรือโรคขาดวิตามินบี 1 และบี 2 พบที่บริเวณริมฝีปาก มุมปาก ผิวหนัง อวัยวะสืบพันธุ์
ประโยชน์ของวิตามินบี 2
1. บำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม
2. ช่วยในกระบวนการสร้างการเจริญเติบโตและสืบพันธุ์
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าของสายตา
4. ช่วยลดความเจ็บปวดจากไมเกรน
5. กำจัดอาการเจ็บแสบในปาก ริมฝีปาก และลิ้น
6. ทำงานร่วมกับสารอื่น ๆ ในการเผาผลาญอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และโปรตีน
วิตามินบี 3 (ไนอะซิน)
วิตามินบี 3 หรือ ไนอะซิน สำหรับชื่ออื่น ๆ ได้แก่ ไนอะซินาไมด์, กรดนิโคตินิก, นิโคตินาไมด์ แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่ ปลา เนื้อไม่ติดมัน เนื้อขาวจากพวกสัตว์ปีก ตับ โฮลวีต จมูกข้าวสาลี ถั่วลิสง อะโวคาโด อินทผลัม ลูกพรุน มะเดื่อฝรั่ง บริเวอร์ยีสต์
ปริมาณที่แนะนำให้คุณรับประทานต่อวันคือ 13-19 มิลลิกรัม โรคจากการขาดวิตามินบีชนิดนี้ ได้แก่ โรคเพลลากรา (Pellagra) ลักษณะอาการคือเป็นผื่นผิวหนังอักเสบรุนแรง
ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด
1. อาจมีแนวโน้มเป็นโรคเกาต์หรือมีอาการปวดตามข้อได้ หากในร่างกายคุณมีไนอะซินมากเกินไป
2. ผลข้างเคียงอาจมีอาการร้อนวูบวาบ หน้าแดง คันตามตัว เมื่อรับประทานเกินกว่า 100 mg.
3. ไม่ควรให้สัตว์กินไนอะซิน โดยเฉพาะสุนัข เพราะอาจมีอาการเหงื่อออก ร้อนวูบวาบตามตัว และสร้างความอึดอัดแก่สัตว์เลี้ยงได้
4. ทำให้ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานมีปัญหาต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด หรือส่งผลให้อาการของโรคเบาหวานรุนแรงขึ้นได้และอาจทำให้ตับทำงานผิดปกติได้ เพราะไนอะซินในร่างกายที่มีสูงมากเกินไปจะส่งผลต่อการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย
ประโยชน์ของวิตามินบี 3
1. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
2. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
3. ช่วยเผาผลาญไขมันและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น บรรเทาปัญหาต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหาร
4. บรรเทาอาการปวดศีระษะจากไมเกรน
5. ลดอาการวิงเวียนศีรษะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
6. เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดความดันโลหิต
7. ช่วยรักษาอาการร้อนในและกลิ่นปาก
8. บรรเทาอาการท้องร่วง
9. ช่วยเพิ่มพลังงานที่ได้จากการย่อยและเผาผลาญอาหาร
วิตามินบี 5 (กรดแพนโทเทนิก)
แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไก่ ตับ ไต หัวใจ ธัญพืชไม่ขัดสี รำข้าว จมูกข้าวสาลี ถั่ว ผักสีเขียว กากน้ำตาลไม่บริสุทธิ์ บริเวอร์ยีสต์ ขนาดที่แนะนำให้รับประทานสำหรับผู้ใหญ่คือ 10 mg. ต่อวัน โรคจากการขาดวิตามินบี 5 ได้แก่ โรคไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นแผลในลำไส้เล็ก โรคเลือด โรคผิวหนัง
ประโยชน์ของวิตามินบี 5
1. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
2. ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
3. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
4. ช่วยในกระบวนการรักษาแผล
5. ช่วยรักษาอาการช็อกหลังการผ่าตัด
6. ช่วยป้องกันการอ่อนเพลียของร่างกาย
7. ช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบในผู้ป่วยบางรายได้
8. ช่วยรักษาอาการเหน็บชาที่มือและเท้า
9. ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย
วิตามินบี 6 (ไพริด็อกซิน)
วิตามินบี 6 หรือ ไพริด็อกซิน เป็นคำที่ใช้เรียกรวมกันของกลุ่มสารที่มีโครงสร้างคล้ายกันและทำงานร่วมกัน ซึ่งประกอบไปด้วย ไพริด็อกซิน ไพริด็อกซาล และไพริด็อกซามีน แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ บริเวอร์ยีสต์ รำข้าว จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง วอลนัต กะหล่ำปลี กากน้ำตาล แคนตาลูป ไข่ ตับ ปลา ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 1.6 – 2 mg.
ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการกระสับกระส่ายในเวลานอน ฝันเหมือนจริงเกินไป เท้าชาและมีอาการกระตุก สำหรับผู้ที่รับประทานขนาด 2,000 – 10,000 mg. ทุกวันอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาทได้ ขอแนะนำว่าควรรับประทานขนาดไม่เกิน 500 mg. ต่อวันจะปลอดภัยกว่าโรคจากการขาดวิตามินบี 6 โรคโลหิตจาง ผื่นผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมัน
ประโยชน์ของวิตามินบี 6
1. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรง
2. ช่วยชะลอวัยได้
3. ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในไต
4. ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
5. ทำให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนและไขมันได้ดียิ่งขึ้น
6. ช่วยเปลี่ยนรูปของทริปโตเฟน ให้เป็นวิตามินบี 3
7. ช่วยป้องกันโรคทางประสาทและโรคผิวหนังหลายชนิด
8. ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
9. เป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ
10. ลดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในเวลากลางคืน มือชา ขาเป็นตะคริว และปลายประสาทที่แขนขาอักเสบบางชนิด
11. ช่วยลดอาการปากแห้งและปัญหาด้านการปัสสาวะที่เกิดจากการรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก
วิตามินบี 7 (ไบโอติน)
วิตามินบี 7 (Biotin) หรือ วิตามินเอช เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ซึ่งมีซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบและจัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีรวม
แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ตับวัว ไข่แดง นม แป้งถั่วเหลือง เนย ถั่วลิสง บริเวอร์ยีสต์ ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 100 – 300 mcg.
โรคจากการขาดไบโอติน ผมร่วง ซึมเศร้า เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง การเผาผลาญไขมันทำงานไม่สมบูรณ์ เป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณหน้าและตัว แต่ทั้งนี้ยังไม่พบผู้ที่มีอาการเป็นพิษจากการรับประทานไบโอตินเกินขนาดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
ประโยชน์ของไบโอติน
1. ช่วยป้องกันผมหงอกได้ดี
2. ช่วยป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะล้าน
3. ช่วยป้องกันและบำรุงรักษาเล็บที่แห้งเปราะ
4. ช่วยในการเผาผลาญไขมันและโปรตีน
5. บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
6. ช่วยบรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ผดผื่นคันต่าง ๆ
วิตามินบี 9 (กรดโฟลิก)
วิตามินบี 9 หรือ กรดโฟลิก (โฟเลต,โฟลาซิน) หรือรู้จักกันในชื่อ วิตามินเอ็มหรือวิตามินบีซี (BC) แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม แคร์รอต แคนตาลูป ฟักทอง เอพริคอต อะโวคาโด อาร์ทิโชก ถั่ว แป้งไรย์แบบสีเข้มที่ไม่ผ่านการขัดสี ทอร์ทูลายีสต์ ขนาดที่แนะนำให้รับประทานคือประมาณ 180 – 200 mcg. ต่อวัน
ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีอาการที่เป็นพิษต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณมากติดต่อกัน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผื่นแพ้ได้บ้าง และหากร่างกายมีกรดโฟลิกมากเกินไป อาจทำให้เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 แต่ไม่แสดงออกมา
โรคจากการขาดวิตามินบี 9 โรคโลหิตจางแบบแมโครไซติกหรือเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ
ประโยชน์ของวิตามินบี 9
1. ช่วยบำรุงผิวพรรณและสุขภาพ
2. ช่วยแก้ปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอได้
3. ช่วยชะลอให้ผมขาวช้าลง หากรับประทานร่วมกับพาบา และวิตามินบี5
4. ช่วยให้เจริญอาหาร หากร่างกายอ่อนเพลีย
5. ช่วยป้องกันแผลร้อนในได้
6. ช่วยรักษาภาวะซีดหรือโลหิตจาง
7. ทำงานออกฤทธิ์คล้ายยาแก้ปวด
8. ช่วยป้องกันพยาธิในลำไส้และอาการแพ้จากอาหารเป็นพิษ
9. ช่วยป้องกันการพิการของเด็กทารกแรกเกิด
10. ช่วยในการสร้างน้ำนมของมารดาหลังคลอดบุตร
11. ช่วยลดระดับของกรดอะมิโนโฮโมซิสเทอีนในเลือด
12. ชวยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
วิตามินบี 12 (โคบาลามิน)
วิตามินบี 12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) มีอีกชื่อที่รู้กันดีคือ วิตามินแดงหรือไซยาโนโคบาลามิน (Cyanocobalamin)
แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เนื้อสัตว์เป็นหลัก ตับ ไต นม ไข่แดง ชีส ปลา เนื้อหมู เนื้อวัว อาหารหมักดอง เป็นต้น ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 2 ไมโครกรัม หากร่างกายขาดวิตามินบี 12 อาจทำให้เกิด โรคโลหิตจางและโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้
ประโยชน์ของวิตามินบี 12
1. ช่วยบำรุงประสาททำให้ระบบประสาทแข็งแรงขึ้น
2. ช่วยเพิ่มสมาธิ ความจำ และการทรงตัว
3. ช่วยบรรเทาอาการหงุดหงิด ลดความเครียด
4. ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย
5. ช่วยทำให้เด็กเจริญอาหาร
6. ทำให้ร่างกายสามารถใช้ไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตได้อย่างเหมาะสม
7. มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
8. ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง
9. ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งจากการสูบบุหรี่
10. ปริมาณ 80 ไมโครกรัมต่อวันจะช่วยเสริมสร้างความแข็งของกระดูกและช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
วิตามินบี 15 (กรดแพงเกมิก)
แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ข้าวกล้อง เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี บริเวอร์ยีสต์ ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ยังไม่พบว่าหากรับประทานในปริมาณมากจะมีอาการเป็นพิษต่อร่างกาย แต่อาจมีอาการคลื่นไส้ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มรับประทานวิตามินบี 15 แต่อาการมักจะหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน และอาจจะบรรเทาอาการโดยเริ่มต้นรับประทานวิตามินบี 15 หลังมื้ออาหารที่หนักที่สุดของวัน
โรคที่พบจากการขาดวิตามินบี15 เนื่องจากวิตามินตัวนี้ยังมีงานวิจัยค่อนข้างน้อยและจำกัด แต่มีความเป็นไปได้ว่าการขาดวิตามินบี 15 จะทำให้เกิดความผิดปกติของต่อมและเส้นประสาท โรคหัวใจ สภาวะที่ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆได้น้อยลง
ประโยชน์ของวิตามินบี 15
1. ช่วยเพิ่มการตอบสนองภูมิคุ้มกันของร่างกาย
2. ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน
3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
4. ช่วยบรรเทาอาการอยากดื่มสุรา
5. ช่วยรักษาอาการเมาค้าง
6. ช่วยปกป้องตับจากภาวะตับแข็ง
7. เร่งการฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย
8. ช่วยป้องกันอันตรายจากมลพิษต่าง ๆ
9. สามารถยืดอายุของเซลล์ในหลอดทดลองได้
10. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหืด
วิตามินบี 17 (อะมิกดาลิน)
วิตามินบี 17 หรือ อะมิกดาลิน (Amygdalin) หรือ เลไทรล์ (Laetrile) แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เมล็ดพืชโดยเฉพาะเมล็ดเอพริคอต และยังมีเมล็ดอื่น ๆ อีก เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดพลับ เมล็ดถั่วอัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ข้าว ถั่ว รวมไปถึงถั่วแมคาเดเมีย
การได้รับวิตามินชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้ตัวเย็น เหงื่อออก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มีอาการง่วงซึม หายใจติดขัด ริมฝีปากเขียว ความดันต่ำ
เชื่อกันว่าวิตามินชนิดนี้สามารถช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ (แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากและยังไม่เป็นที่ยอมรับ) วิตามินชนิดนี้สามารถช่วยป้องกันความเสื่อมทางสมองได้ และสามารถช่วยทำให้ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอกลับมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนเดิมและสุขภาพจิตก็ดีขึ้น
พาบา (กรดพารา-แอมิโนเบนโซอิก)
พาบา (PABA) หรือ กรดพารา-แอมิโนเบนโซอิก เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ตับ ไต ข้าว รำข้าว จมูกข้าวสาลี ธัญพืชไม่ขัดสี กากน้ำตาล บริเวอร์ยีสต์ ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ยังไม่พบว่ามีอันตรายต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณสูงและต่อเนื่อง แต่ไม่แนะนำให้รับประทานในปริมาณที่สูงต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ส่วนอาการที่อาจบ่งบอกว่าในร่างกายได้รับพาบามากเกินไปที่พบเห็นได้บ่อยคือ คลื่นไส้อาเจียน
ประโยชน์ของพาบา
1. ช่วยให้ผิวพรรณมีสุขภาพดีและเนียนนุ่ม
2. ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยได้
3. ช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลไหม้
4. ช่วยฟื้นคืนสีผมตามธรรมชาติให้กับเส้นผม โรคจากการขาดพาบา ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดเอ็กซีมา
โคลีน (Choline)
โคลีน (Choline) เป็นหนึ่งในสารที่ช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกาย และจัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ หัวใจ สมอง ตับ ปลา ผักใบเขียว ยีสต์ จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ยังไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันอย่างเป็นทางการ แต่มีการประมาณว่าในวัยผู้ใหญ่สามารถรับประทานได้ประมาณ 500 – 900 mg. ต่อวัน
โรคจากการขาดโคลีน
1. โรคอัลไซเมอร์
2. ผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว
3. โรคตับแข็งหรือไขมันสะสมที่ตับ
ประโยชน์ของโคลีน
1. ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย
2. ช่วยต่อสู้กับปัญหาความจำเสื่อมในวัยสูงอายุ (ด้วยขนาด 1,000 – 5,000 mg. ต่อวัน)
3. ช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้
4. ช่วยในกระบวนการส่งกระแสประสาท โดยเฉพาะในสมองส่วนที่ทำงานด้านความจำ
5. ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
6. ช่วยป้องกันภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด
7. ช่วยลดการสะสมตัวของคอเลสเตอรอลได้
8. ช่วยกำจัดสารพิษและยาที่ค้างในร่างกาย โดยช่วยเสริมการทำงานของตับ
อิโนซิทอล (Inositol)
อิโนซิทอล (Inositol) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ตับ สมองและหัวใจวัว จมูกข้าวสาลี กากน้ำตาล ถั่วลิสง ถั่วลิมาแห้ง ลูกเกด แคนตาลูป เกรปฟรุต กะหล่ำปลี บริเวอร์ยีสต์ ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันยังไม่มีระบุอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับผู้ใหญ่สามารถรับประทานได้วันละ 500 – 1,000 mg.
โรคจากการขาดอิโนซิทอล
1. ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดเอ็กซีมา (Eczema) โดยมีลักษณะอาการคือ บวมแดง คัน ผิวหนังลอกเป็นขุย
2. มีอาการท้องผูกได้ง่าย เนื่องจากการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวลำไส้จะทำงานผิดปกติ จึงทำให้อาหารตกค้างในลำไส้ใหญ่
3. อาจเกิดความผิดปกติในดวงตา เช่น ตาบอดกลางคืน ต้อกระจก ต้อหิน และการมองเห็นผิดปกติได้
4. เกิดภาวะผมร่วงได้
5. อาจเกิดภาวะเส้นเลือดอุดตัน หรือมีการแข็งตัวของผนังเส้นเลือดได้
6. อาจเกิดภาวะเสื่อมและอักเสบของปลายประสาท ทำให้มีอาการชา หรือปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้าได้
ประโยชน์ของอิโนซิทอล
1. ป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง
2. ทำให้รู้สึกสงบ ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
3. สามารถช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิดได้
4. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญไขมัน
5. ช่วยปรับการสะสมของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
6. ช่วยฟื้นฟูอวัยวะต่าง ๆ ของผู้ป่วยเบาหวานให้ดีขึ้น
7. ช่วยป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบเอ็กซีมา